เรียบเรียงโดย นพ.วรศิลป์ ชีวอัครพันธุ์, นพ.ธนา ธุระเจน
ข้อเสื่อมเป็นโรคที่พบได้บ่อยและมีอุบัติการณ์เพิ่มขึ้นตามอายุขัย ปัจจุบันถือว่าเป็นโรคที่มีความสำคัญโดยเฉพาะในประเทศไทยที่กำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ โรคข้อเสื่อมมีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตอย่างเห็นได้ชัดเจน ทั้งทางด้านร่างกายและสภาพจิตใจ สาเหตุของข้อเสื่อมมีทั้งส่วนที่ทราบสาเหตุ เช่น ข้อเสื่อมที่เกิดขึ้นภายหลังจากการได้รับอุบัติเหตุ ข้อเสื่อมที่พบร่วมกับโรคของการอักเสบหรือเยื่อหุ้มข้ออักเสบ และส่วนที่ไม่ทราบสาเหตุซึ่งพบในกลุ่มที่มีการใช้งานมากตามอายุที่เพิ่มขึ้น ผลกระทบตามมาจากข้อเสื่อมได้แก่ กล้ามเนื้อที่ไม่แข็งแรงทำให้มีอาการอ่อนแรง การอักเสบในข้อทำให้มีอาการปวด น้ำเลี้ยงข้อเสียสภาพตามธรรมชาติ และการทำลายกระดูกอ่อนอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีอาการปวดเวลาเดินทั้งทางราบและการเดินขึ้นลงบันได รวมทั้งเกิดการผิดรูปของข้อเข่า
การรักษาในปัจจุบัน ได้แก่ การรับประทานยา การทำกายภาพบำบัด การฉีดยาเสตียรอยด์ และการฉีดยาน้ำเลี้ยงข้อเทียม ซึ่งมีทั้งแบบฉีดหนึ่งเข็ม สามเข็ม หรือห้าเข็ม โดยฉีดสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ซึ่งต้องฉีดทุกๆ 6 เดือน หากการรักษาด้วยวิธีดังกล่าวไม่ได้ผล ผู้ป่วยจำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม ซึ่งมีทั้งแบบครึ่งข้อ (Unicompartmental Knee Arthroplasty: UKA) หรือแบบเต็มข้อ (Total Knee Arthroplasty: TKA) ขึ้นกับการวินิจฉัยและดุลพินิจของแพทย์ ซึ่งให้ผลการรักษาที่ดีและถือเป็นมาตรฐานการรักษาในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม ความคาดหวังของผู้ป่วยโรคข้อเสื่อมมีการเปลี่ยนแปลงไปเนื่องจากประชากรในปัจจุบันมีอายุยืนยาวขึ้น มีความต้องการออกกำลังกายมากขึ้น ความต้องการรับประทานยาแก้อักเสบน้อยลง ไม่ต้องการฉีดยาเข้าข้อบ่อยครั้ง ต้องการยาที่ออกฤทธิ์ได้นานมากกว่า 6 เดือน และที่สำคัญคือ ต้องการผ่าตัดในกรณีที่จำเป็นและถึงเวลาอันเหมาะสมเท่านั้น
ในโลกปัจจุบันเป็นโลกของการรักษาด้วยเทคโนโลยีชีวภาพชั้นสูง (Advanced biotechnology) การแพทย์มาตรฐานในปัจจุบัน (Conventional medicine) มีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนไปเป็นการรักษาสภาพเดิมของร่างกายให้ดีที่สุดและนานที่สุดด้วยการหายตามธรรมชาติ (Regenerative medicine)
การรักษาข้อเสื่อมโดยวิธีธรรมชาติที่ปลอดภัย ได้ผลดี มีประสิทธิภาพ จึงถูกพัฒนาขี้นตามลำดับตั้งแต่ พ.ศ. 2556 เป็นต้นมาในประเทศไทย เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ของประสิทธิภาพการรักษาด้วยเซลล์ต้นกำเนิด เกล็ดเลือดเข้มข้นและการกระตุ้นตามธรรมชาติที่เหมาะสม
ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553 การใช้เกล็ดเลือดเข้มข้นเพื่อใช้ในการรักษาโรคข้อเสื่อมได้รับการยอมรับจากองค์การอาหารและยา (FDA) ของประเทศสหรัฐอเมริกา อย่างไรก็ตาม ข้อบ่งชี้ของการรักษาด้วยวิธีนี้ มักใช้ในการรักษาข้อเสื่อมระยะต้นซึ่งมักพบในนักกีฬาและผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 55 ปี มีการฉีด 2-4 ครั้ง โดยฉีดทุก 4-6 เดือน หากเป็นข้อเสื่อมระยะกลางและระยะปลาย ผู้ป่วยมักจะได้รับคำแนะนำให้เข้ารับการผ่าตัดข้อเทียมแบบครึ่งข้อ (UKA) หรือแบบเต็มข้อ (TKA) สำหรับปัญหาในประเทศไทย คือ ผู้ป่วยส่วนใหญ่มีลักษณะที่เป็นผู้ป่วยที่อายุมาก ผู้ป่วยมักมาพบแพทย์เมื่อมีข้อเสื่อมในระยะกลางถึงปลาย จึงส่งผลให้มีอัตราการผ่าตัดที่เพิ่มสูงขึ้นในผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าว
การวิจัยและพัฒนามาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี พ.ศ. 2557 จนถึงปัจจุบัน ทำให้ทีมแพทย์สามารถใช้เกล็ดเลือดเข้มข้นชนิดปั่นสามครั้ง (Plasma Rich in Growth Factors) ซึ่งมีจำนวนเกล็ดเลือดที่เข้มข้นมากขึ้น มีปัจจัยที่เพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาโรคข้อเสื่อมได้ในทุกระยะ และใช้ได้ในคนที่อายุมากขึ้น โดยที่ยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องได้รับการผ่าตัด
พลาสมาเข้มข้นที่อุดมไปด้วยสารกระตุ้นการเจริญเติบโต (Plasma Rich in Growth Factors) คือ พลาสมาเข้มข้นที่อุดมไปด้วยเกล็ดเลือดและสารกระตุ้นการเจริญเติบโต (Growth Factor) ซึ่งเตรียมขึ้นจากเลือดของผู้ป่วยเอง นำไปผ่านกระบวนการปั่นแบบปลอดเชื้อด้วยอุปกรณ์ที่มีมาตรฐานจำนวน 3 ครั้ง (PRGF-triple spin technique) เพื่อให้ได้พลาสมาซึ่งมีองค์ประกอบสำคัญ 3 ประการ1 คือ 1.) เกล็ดเลือด ซึ่งเป็นองค์ประกอบหลักของการให้สารกระตุ้นการเจริญเติบโต (Growth Factors) โดยความเข้มข้นของเกล็ดเลือดในการรักษาควรมีความเข้มข้นมากกว่าปกติ 5 เท่า 2.) เม็ดเลือดขาวชนิด Monocyte ที่ช่วยลดการอักเสบตามธรรมชาติ ซึ่งในการวิจัยพบว่ามีสารกระตุ้นการเจริญเติบโต (Growth factors) ในเม็ดเลือดขาวชนิดดังกล่าว 3.) โปรตีนในเลือด ทำหน้าที่เป็นที่อยู่ของสารที่กระตุ้นการเจริญเติบโต (Growth factors) ทำให้เกล็ดเลือดเข้มข้นอยู่ในข้อและออกฤทธิ์ได้นานขึ้น มีส่วนช่วยในการซ่อมแซมและผลิตน้ำเลี้ยงข้อตามธรรมชาติ โดยการฉีด 1-2 ครั้ง ภายใน 6-12 เดือน ซึ่งจะทำให้การรักษาได้ผลดีเป็นระยะเวลา 9-12 เดือน มีงานวิจัยและหลักฐานเชิงประจักษ์รองรับถึงความปลอดภัยในการใช้รักษาโรคข้อเข่าเสื่อม2 ให้ผลการรักษาที่ใกล้เคียงกับการฉีดสเตียรอยด์ใน 2 เดือนแรก และดีกว่าสเตียรอยด์ที่ระยะเวลา 2-12 เดือน3 รวมถึงสามารถช่วยชะลอการผ่าตัดข้อเทียมได้ 76-87.5% (ขึ้นกับระยะความรุนแรงของโรค) ที่ระยะเวลา 2 ปี4 และ 70-80% ที่ระยะเวลา 3 ปี5 ซึ่งผลการวิจัยดังกล่าวได้รับการตีพิมพ์ลงในวารสารนานาชาติ จำนวน 4 ฉบับ ในช่วง พ.ศ. 2561- 2565 ได้รับอนุสิทธิบัตรจำนวน 3 ฉบับ ในปี พ.ศ. 2562 และรางวัลนวัตกรรมจากสมาคมข้อเข่าข้อสะโพกแห่งประเทศไทย (Innovation award, the Thai Hip & Knee Society) ใน พ.ศ. 2564 และรางวัลนักวิจัยผู้ทรงคุณวุฒิยอดเยี่ยม โรงพยาบาลตำรวจ ได้มีการเผยแพร่ความรู้มากกว่า 20 จังหวัดทั่วประเทศไทย ปัจจุบันมีผู้ป่วยได้รับการรักษามากกว่า 2,500 ราย
Plasma Rich in Growth Factors | Platelet-Rich Plasma | |
ความถี่ในการรักษา | 1-2 ครั้ง ในระยะเวลา 6-12 เดือน | สัปดาห์ละ 1 ครั้ง ติดต่อกัน 3 - 5 ครั้ง ในระยะเวลา 4-6 เดือน |
ความเสื่อมของข้อเข่าที่รับการรักษาได้ | ข้อเข่าเสื่อมทุกระยะ* | ข้อเข่าเสื่อมระยะเริ่มต้นเท่านั้น |
องค์ประกอบ | เกล็ดเลือด เม็ดเลือดขาว โปรตีน | เกล็ดเลือด |